จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-25 เมษายน 2554 พบผู้ป่วย โรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 30,524 คน หรือคิดเป็น 48.05 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย สารเคมี เช่น อัลฟาท๊อกซินในถั่วป่น พริกแห้ง จึงทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษหลังได้รับเชื้อโรคร้ายภายใน 24 – 60 ชั่วโมง ซึ่งอาหารที่สามารถเป็นพาหะของแบคทีเรีย อันอาจนำมาสู่โรคอาหารเป็นพิษ และต้องระมัดระวังในการรับประทาน ได้แก่
เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก
เนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีกมีโอกาสได้รับการปนเปื้อนได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างกระบวนการผลิตและแปรรูป ดังนั้นก่อนรับประทานเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกจะต้องมีการปรุงให้สุกอย่างดี แม้กระทั่งการจัดเก็บ ควรแยกอาหารที่ปรุงสุกแล้วออกจากเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกที่ยังดิบ รวมถึงขั้นตอนการประกอบอาหาร ควรแยกเขียงและอุปกรณ์ที่ใช้เตรียมของดิบและของสุกออกจากกัน หรือล้างให้สะอาดหลังจากใช้เตรียมของดิบแล้ว
อาหารทะเล
เชื้อโรคจากอาหารทะเลที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษนั้นค่อนข้างรุนแรง การเลือกรับประทานอาหารทะเลต้องเลือกที่สด สะอาด และปรุงให้สุกทุกครั้ง
น้ำนม
นมเป็นอาหารที่มีโอกาสเกิดการปนเปื้อนได้เช่นกัน ควรบริโภคนมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ หรือ UHT และควรหลีกเลี่ยงการบริโภคชีสที่ระบุว่าทำมาจากนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ ซึ่งบางครั้งอาจพบได้ตามร้านค้าสุขภาพ นับเป็นสินค้าที่อันตรายต่อทางเดินอาหาร
ผลไม้ ผัก และสลัด
แนวโน้มความนิยมเรื่องการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมีมากขึ้น ส่งผลให้มีการบริโภคผักและผลไม้สดเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน หากจะรับประทานผักหรือผลไม้ดิบ ก็ควรล้างด้วยน้ำสะอาด หรือแช่ในน้ำยาล้างผัก อย่างไรก็ตามการปรุงผักให้สุกก่อนรับประทานจะช่วยทำลายแบคทีเรียที่เป็นอันตรายได้
ไข่
หลีกเลี่ยงการบริโภคไข่แบบสุกๆ ดิบๆ เพราะไข่ดิบเพียงนิดเดียวไม่ว่าจะในไข่แดงหรือไข่ขาว ก็สามารถเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียที่นำไปสู่โรคอาหารเป็นพิษได้ ก่อนนำไข่มาบริโภคควรล้างเปลือกไข่ให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร
น้ำ
น้ำเป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่ ที่ต้องใช้ในปริมาณมากทุกวัน ทั้งน้ำดื่มและน้ำใช้ในการเตรียมอาหารต้องปลอดภัย การระบายน้ำทิ้งที่ปนเปื้อนเป็นอันตรายและเป็นปัจจัยสำคัญของอาหารเป็นพิษและอหิวาตกโรค
โดยสรุปแล้ว การป้องกันอาหารมิให้เกิดการปนเปื้อนที่สำคัญคือ ให้ความรู้แก่ผู้ปรุงในด้านวิธีการปรุง การเก็บอาหาร และพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคล และเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด รวมถึงการล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
ข้อมูลจาก : https://24hsport.co
ติดตามข่าวสารอื่น ๆ : https://www.interguardias.com/